วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556

The Grammar-Translation Method


               การสอนภาษาแบบไวยากรณ์-การแปล (Grammar Translation) หรือเรียกอีกอย่างว่า Classical Method หรือ Traditional Method ซึ่งเป็นวิธีสอนภาษาในยุคโบราณ (แต่ถือว่ายังไม่ตกยุค เพราะครูหรืออาจารย์ที่สอนภาษาหลายท่าน ยังคงใช้อยู่สำหรับสอนวิชาที่ต้องมีการแปลเนื้อหา) วิธีการสอนแบบนี้เกิดขึ้นเนื่องจากในช่วงที่ยุโรปมีความต้องการที่จะฟื้นฟูศิลปวิทยาการในยุคตั้งแต่ (Renaissance) เป็นช่วงที่คนในสมัยนั้นเชื่อว่าการเป็นปัญญาชน (Intellect) ผู้เรียนจะต้องบ่มเพาะจากการซาบซึ้งและเข้าใจวรรณคดี นำแง่มุมจากวรรณคดีมาพัฒนาตนเองได้ ดังนั้นวรรณคดีส่วนใหญ่ซึ่งเป็นภาษากรีกและลาติน (classical languages) แม้กระทั่งวรรณคดีเด่น ๆ ในภาษาอื่น ๆ จึงถูกนำมาใช้เป็นสื่อการสอน วิธีการสอนแบบนี้ไม่ได้ตั้งใจให้ผู้เรียนเรียนฝึกพูดภาษานั้น ๆ แต่ต้องการให้แปลออกมาเป็นภาษาตนเองได้อย่างแม่นยำ (accuracy)และหาคำที่ใกล้เคียงกับภาษาแม่มากที่สุด ครูจะใช้ภาษาแม่เป็นหลักในการจัดเรียนการสอน ในแต่ละครั้งที่มีการเรียน ครูจะรู้อยู่ในใจแล้วว่าในบทอ่านแต่ละครั้ง ไวยากรณ์/กฎและข้อยกเว้น//รูปแบบประโยค ลักษณะไหนที่นักเรียนจะต้องรู้ (ไวยากรณ์ไม่ได้แบ่งเป็น unit เหมือนที่เราเรียนในแบบวิธี CLT) ครูจะใช้แบบฝึก/ใบความรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะทางไวยากรณ์ที่เกี่ยวข้องกับบทอ่านหรือวรรณกรรมที่ต้องแปล มีการทดสอบไวยากรณ์และความเข้าใจความหมายของบทอ่าน

ลักษณะเด่น
1. ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ ”วัฒนธรรมการสอนภาษา” หรือ “วิธีสอนภาษา”
2. ผู้เรียนจะพัฒนาทักษะทางภาษาเพียง 3 ทักษะคือ การอ่าน การเขียน และ คำศัพท์ สุดท้ายบทบาทของผู้เรียนคือการท่องจำ
3. ครูวัดผลโดยการวัดในระดับความจำ ความเข้าใจ ซึ่งครอบคลุมคำศัพท์ กฎเกณฑ์ทางภาษา/ไวยากรณ์ และการแปลออกมาเป็นภาษาของตนเองได้อย่างถูกต้อง ได้ใจความตามภาษาเดิมให้มากที่สุด
4. ครูเป็นศูนย์กลาง นักเรียนเป็นผู้รับฟัง จดและจำคำศัพท์ หลักไวยากรณ์
5. ผู้เรียนมีความสามารถด้านไวยากรณ์เป็นหลัก (grammatical competence เท่านั้น)

ข้อจำกัด
1. ทำให้ผู้เรียนเข้าใจว่าภาษาคือการเรียนรู้ไวยากรณ์หรือกฏเกณฑ์เพียงอย่างเดียว การใช้ภาษาไม่ใช้สิ่งสำคัญ
2. ผู้เรียนไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้ในห้องเรียนกับการใช้ภาษาในสถานการณ์จริงได้ เนื่องจากสามารถเรียนรู้หน่วยคำ ความหมาย และประโยคเท่านั้น ไม่มีแม้การฝึกพูดประโยคนั้นซ้ำ ๆ(ซึ่งมีใน Audiolingual Method) ผู้เรียนขาดทักษะการออกเสียงที่ถูกต้อง (ครูออกเสียงไม่ถูกต้องก็สอนภาษาได้) การใช้ภาษาให้ถูกกาลเทศะ และความเข้าใจทางด้านวัฒนธรรมของภาษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น